อนุทินภาพวิดีโอ บันทึกน้ำท่วม ของ พอล บาร์ตัน

พอล บาร์ตัน (Paul Barton) เป็นจิตรกร และนักเปียโนชาวอังกฤษ ที่มาอยู่ในกรุงเทพฯหลายปีแล้ว มีภรรยาเป็นประติมากรชาวไทย ชื่อ ขวัญ ครอบครัวนี้มีบ้านอยู่ที่ซอยเพชรเกษม 100 ใกล้หมู่บ้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่ 31 ตุลาคม เป็นต้นมา แถบนั้นถูกน้ำท่วมหนัก พอลและขวัญตัดสินไม่ย้ายไปที่อื่นและได้เริ่มบันทึกภาพชีวิตประจำวันของเขาเอง คนในซอย ในหมู่บ้านเศรษฐกิจ และถนนเพชรเกษม ในชุดที่ตั้งชื่อว่า Bangkok Flood Diary วีดิโอของพอลและขวัญ เป็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตคนอยู่กับน้ำ ที่ต่างจากภาพที่เราเห็นในสื่อ เขาทำให้เราเห็นความอดทน ความสร้างสรรค์ ช่างคิด พร้อมรับสภาพน้ำท่วมอย่างมีกำลังใจ และไม่เห็นว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเกินไป

อ่านต่อ และชมวิดีโอ

EM กับความเหมาะสมในการบำบัดนํ้าเน่าเสียในสภาวะนํ้าท่วมขัง

แถลงการณ์ เรื่อง “EM กับความเหมาะสมในการบำบัดนํ้าเน่าเสียในสภาวะนํ้าท่วมขัง”
โดย กลุ่มนักวิชาการวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 9 พฤศจิกายน 2554
ฟันธง E.M. ไม่มีผลครับ ลงนามโดยนักวิชาการจำนว ๔๘ คน พร้อมคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีน้ำท่วมขัง และต้องการแก้ไขโดยไม่ใช้ E.M.และบทความแนะนำ E.M.

เชิญอ่านได้ที่ http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3983

การประกวด “นาวาฝ่าวิกฤต” ที่สวนลุมพินี วันที่ ๑๖​พค. นี้

งานเริ่ม ๘.๐๐​น. แจกรางวัลเวลา​๑๖.๐๐ น.ครับ สาธารณชนเข้าชมได้ ฟรี

โปรดอ่านรายละเอียด ที่ http://www.facebook.com/groups/floodcontest/ ครับ

ชมภาพจากกล้อง CCD และระดับน้ำคลองในกรุงเทพฯ แบบง่ายที่สุด

ผมได้รับแจ้งจากคุณตฤณ ว่าขณะนี้ ทางมูลนิธิ OpenCare ร่วมกับ INET ได้เปิดบริการเข้าถึงข้อมูลที่เราสามารถดูจราจรและน้ำท่วมถนนได้ด้วยตนเองแบบง่ายๆ ทางเว็บ เพียงเข้าไปที่ http://thaiflood.opencare.org/ ท่านก็จะได้แผนที่ประเทศไทย บนแผนที่นี้ จะมีสัญลักษณ์สองประเภท คือกล้องถ่ายรูป และ มาตรวัดความสูงของน้ำ หากคลิกที่กล้องถ่ายรูป จะได้ภาพถนน (ซึ่งบางแห่งที่น้ำท่วมก็จะเป็นน้ำด้วย) หากคลิ๊กมาตรวัดน้ำ ก็จะได้ข้อมูลบอกชื่อคลอง และระดับน้ำ เทียบกับตลิ่ง

ระบบนี้สามารถดูได้จาก web browser ในเครื่องทุกระบบ จอภาพทุกขนาด ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมหรือดาวน์โหลดใดๆทั้งสิ่น

Traffy Eyes Camera

ขอขอบคุณ Traffy (พัฒนาโดย เนคเทค สวทช.) ที่ให้ข้อมูลสู่ระบบนี้

ระดับน้ำในคลอง

ข้อมูลแสดงระดับน้ำ จาก สำนักการระบายน้ำ กทม. และ กรมชลประทาน
มาตรวัดที่มีสีแดง หมายถึงน้ำท่วมตลิ่ง (ขณะนี้เรายังไม่มีข้อความอธิบายว่าตลิ่งซ้าย/ขวา ว่าอยู่ด้านใด)

บริการข้อมูลดีๆเหล่านี้ ช่วยให้ประชาชนสามารถดูข้อมูลได้เองผ่านโทรศัพท์มือถือแบบ smart phone หรือผ่านคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยไม่ต้องรอฟังข่าวจากสื่อมวลชน

การประกวด นาวาฝ่าวิกฤต ของประเทศไทย

สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ ปตท. ได้เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ในช่วงที่เกิดอุทกภัย โดยการประกวดการสร้างพาหนะทางน้ำที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ สำหรับใช้งานยามน้ำท่วม และผู้ชนะ ต้องเป็นผู้ที่สามารถใช้วัสดุทั่วไป ประกอบเป็นพาหนะทางนำ้ได้ง่าย แล่นได้ดี รับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า ๑๖๐ กิโลกรัม งานนี้มีประกาศมาตั้งแต่วันที่ ๓ พย.​นี้ และมีกำหนดส่งผลงานในวันที่ ๑๑ พย. ๒๕๕๔ นัดหมายนำมาแสดงต่อสาธารณชนและแข่งขันความสามารถในวันที่ ๑๖ พย.นี้ เข้าใจว่าจะได้สถานที่เป็นสวนลุมพินี

ผลงานที่ออกมาทุกผลงาน ต้องเปิดเผยให้ประชาชนผู้ประสบภัย นำไปใช้ในการสร้างพาหนะทางน้ำขึ้นใช้ได้ สิ่งใดเป็นความคิดที่ดี ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยที่กำลังประสบภัยอยู่ในขณะนี้

ผมได้ไปชมตัวอย่าง Water bike หลายๆโครงการ ผ่านทาง Youtube และคิดว่า วัสดุบางชนิด เช่น ทุ่นขนาดเล็กทรงกระบอกยาวๆ น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำพลาสติกในประเทศไทยทำออกมาขายได้ ในยามปกติ เก็บไว้ได้สะดวกเพราะไม่เปลืองที่ ในยามน้ำท่วม เพียงแค่ใส่ลมเข้าไปก็ใช้งานเป็นทุ่นได้ สร้างแพได้ การนำจักรยานมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางน้ำด้วยใบพัดก็ดี การใช้ล้อจักรยานเพื่อให้เรือแล่นได้บนถนนได้ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นความเฉลียวฉลาดของผู้ออกแบบทุกคน หวังว่าเราคงจะได้เห็นผู้ชนะเลิศของไทยก่อนน้ำลด

ท่านที่สนใจ ติดตามที่ http://www.facebook.com/groups/floodcontest/ ครับ

ในช่วงนี้ ชมของต่างประเทศไปก่อนครับ


รายนี้ใช้ล้อจักรยานเพื่อให้รถวิ่งบนถนนได้ วิ่งด้วยล้อในน้ำตื้นได้ และเป็นเรือพายตอนที่อยู่ในน้ำ


จักรยาน ไม้ ขวดน้ำ แผ่นเหล็ก เหล็กฉาก รวมกัน กลายเป็นจักรยานสะเทินน้ำสะเทินบก วิ่งทางไกลบนบก และทางไกลในน้ำโชว์ในอังกกฤษครับ


ผลงานจากเยอรมนีครับ สวยมาก แต่เป็นการใช้วัสดุพิเศษ ล้อวิ่งบนถนนได้ และกลายเป็นใบพายได้

แบบเล็กๆ ยาวๆ นั่งคนเดียว


Akwakat Waterbike ทุกอย่างทำพิเศษ เพื่อให้กลายเป็น waterbike คุณภาพสูง ความเร็วสูง

shuttlebike.com แล่นได้เร็วดีครับ เกือบจะเป็นกิฬาชนิดหนึ่งแล้ว


จักรยานสะเทินน้ำสะเทินบก โครงการของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมตัน อังกฤษ สร้างโดยมีการออกแบบทางวิศวกรรมที่ครบถ้วน


Human Driven Hydrofoil – สุดยอดครับ คล้ายถีบจักรยาน และเมื่อความเร็วถึงระดับหนึ่ง ครับของ hydrofoil จะทำหน้าที่ยกเรือลอยขึ้น และเคลื่อนตัวด้วยแรงเสียดทานที่ต่ำครับ


Human powered hydrofoil water bike – เมื่อใดที่หยุดวิ่ง ก็จะไม่มีแรงยก จมน้ำ

อยู่กับน้ำ ทำให้ปลอดภัย

หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับหลายๆท่าน ว่าเรื่องภัยจากน้ำเท่าที่มาจากการสัมผัสน้ำ มันร้ายกว่ากลิ่นที่เรารำคาญ การสัมผัสน้ำเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องรู้เท่าทันน้ำเน่า ว่าในน้ำที่เราสัมผ้ส มีเชื้อจุลินทรีย์ทั้งดีและไม่ดี มีสารเคมีละลายอยู่ หากแช่น้ำมากไป คนที่สุขภาพดีอาจจะเกิดโรคน้ำกัดเท้า เราอาจจะเผลอเอามีือไปเกาได้ นึกภาพว่าหากมือนั้นเป็นของพ่อค้าแม่ค้าที่ทำอาหาร เชื้อโรคก็จะเข้าปากได้ คนที่เป็นแผลเปิด หากไปลุยน้ำ อาจจะมีเชื้อโรคอื่นๆเข้าไปในร่างกาย ทำให้แผลอักเสบ หรือมีไข้ขึ้นต้องส่งโรงพยาบาลได้ และหากมีคนที่เป็นโรคท้องร่วง หรือหากเป็นถึงอหิวาตกโรค ถ่ายลงน้ำ อาจจะเกิดโรคระบาดชนิดที่ป้องกันยาก

ผมจึงขอเรียนเชิญทุกท่าน รณรงค์ เผยแพร่กลอนนี้ออกไปกันให้ทั่วครับ น่าจะช่วยลดปํญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ สิ่งที่เรามุ่งหวัง คือ ไม่มีเรื่องโรคระบาดขนาดใหญ่เกิดขึ้น เพราะเราป้องกัน

ขอขอบคุณกวีผู้อุทิศกลอนนี้ ให้แก่สาธารณชนครับ เผยแพร่ตอไปได้โดยเจ้าของไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ

  น้ำมาอย่าไปเล่น   เหม็นไม่เหม็นเชื้อโรคหลาย
แทรกซึมเข้าร่างกาย  เจ็บป่วยได้ต้องระวัง
  น้ำมาอย่าเข้าปาก  สกปรกมากน่ากลัวจัง
เข้าตานัยน์ตาพัง    ต้องนั่งเศร้าเฝ้ารักษา
  น้ำมาถ้าต้องแช่   เดินลุยแน่หลายเพลา
ถึงบ้านอย่ารอช้า    ล้างกายาโดยทันใด
  น้ำมาถ้าเจองู    หรือสัตว์ร้ายอย่าตกใจ
เตรียมไม้เขี่ยมันไป   ให้ห่างห่างทางของเรา
  น้ำมาถ้าน้ำนิ่ง    ก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำเน่า
เปิดห้องให้แดดเผา   สูบออกเข้าให้น้ำไหล
  น้ำมาอย่าละเลย  สุขภาพอนามัย
ร่างกายดีมีน้ำใจ    ช่วยประเทศไทยพ้นภัยเอย

๙ พย.​๒๕๕๔

ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงตลอดฤดูกาลวิกฤตนี้

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
20111110-0925

ความรู้เรื่องจุลินทรีย์ที่ไม่ส่งผล… (ineffective Microorganisms)

เหตุใดบ้าง ที่ทำให้จุลินทรีย์ไม่effective

เมื่อวันที่ ๕ พย. ผมได้ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา  ขอชื่นชมคณะกรรมาธิการครับ ที่มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องที่เป็นประเด็นโต้เถียง หลังจากเข้าไปร่วมประชุมในวันนี้แล้ว เรื่องราวที่เกี่ยวกับ จุลินทรีย์ที่มีผล เริ่มจะชัดเจนขึ้นอีก เพราะมีผู้เชี่ยวชาญ มายืนยันกับคณะกรรมาธิการว่า

  • การนำเชื้อหมัก หรือจุลินทรีย์มาใช้ทำลูกบอลนั้น หากเป็นเชื้อหมักที่ใช้ต่อๆกันมาโดยการขยายจำนวน แล้วนำมาใช้ ใกล้หมดแล้วมาขยายอีก ทำไปหลายๆรอบ อาจจะไม่มีจุลินทรีย์ดีๆเหลืออยู่ /
  • การทำบอล หากนำไปตากแดด มันแห้งแล้วก็สิ้นสุดชีวิต ทิ้งลงไปก็คือก้อนน้ำตาลและรำ จะทำให้น้ำเน่า ต้องเก็ยไว้ประมาณ๗ วัน ให้จุลินทรีย์ในลูกบอลกินน้าตาลกับรำจนเหลือน้ำตาลต่ำกว่า ๕% ก่อน จะได้จุลินทรีย์จำนวนมาก และน้ำตาลลดน้อยลง ณ จุดนี้ มันก็เป็นก้อนจุลินทรียที่พร้อมใช้ (effective) โยนลงในน้ำได้  /
  • เก็บลูกบอลจุลินทรีย์ไว้เกิน ๑ เดือน มันเสื่อมสภาพ นำไปใช้แล้วก็จะไม่ได้ผล  /
  • ลูกบอลจุลินทรีย์ที่ปั้นเสร็จใหม่ๆ ยังมีอายุไม่ครบ ๕ ถึง ๗ วัน ตามสูตร หากโยนลงไปก่อนที่มันจะพร้อมทำงาน ก็จะเป็นก้อนที่มีจุลินทรีย์น้อย น้ำตาลและรำข้าวแยะ และไม่พร้อมใช้ (ineffective)  /
  • จุลินทรีย์ชนิดผง ที่จริงแล้ว คือสปอร์ ต้องนำไปละลายน้ำก่อน มันจึงจะพร้อมทำงาน (กรณีของ GPO Klean ขององค์การเภสัชกรรม) ส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เรียกว่า พด. ๖ ต้องนำไปหมักก่อน จึงจะใช้ได้ สูตรหมัก ต้องนำไผสมกับน้ำ น้ำตาล วัสดุอินทรีย์สด กวนเข้าด้วยกัน ใช้เวลา ๕-๗ วัน จึงจะใช้ได้ เวลาหมัก ต้องกวนทุกสองวัน ปิดฝาแบบไม่สนิท  หลังจากเตรียมจนพร้อมใช้ จึงจะเทราดได้

โดยสรุปแล้ว ผมได้เรียนรู้คำใหม่ ที่ไม่มีใครพูดถึง คือ น้ำจุลินทรีย์ และก้อนจุลินทรีย์ที่ “ไม่มีผล” (Ineffective Microorganism) ว่าหากไม่เคยทำมาก่อน หรือไม่เคยเป็นเกษตรกรที่มีประสบการณ์ เราอาจจะทำอะไรที่ไม่ได้ผล และแถมทำให้น้ำเน่าเพิ่มขึ้น  ดังนั้น เวลารับลูกบอลจุลินทรีย์มา ก่อนใช้ ท่านอาจจะต้องตั้งคำถามที่ทำให้ท่านมั่นใจได้ว่า มันจะ effective

สถานที่ที่จะใช้ได้ผล

  • อย่าลึกเกิน ๒ เมตร  /
  • ต้องเป็นที่น้ำขังนิ่ง ไม่ใช่ที่น้ำไหล

ข้อคิดอื่นๆ

  • การเก็บขยะประเภทเศษอาหาร (อินทรีย์) ไม่ให้แช่น้ำ จะช่วยลดภาวะน้ำเน่า ลดปัญหาตั้งแต่ต้น  /
  • อย่าลืมเปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องเข้ามาในพื้นที่น้ำขัง  พวกสาหร่าย ตะไคร่น้ำ จะช่วยสร้างอากาศ  (ออกซิเจน) ให้กับน้ำ จุลินทรีย์ประเภทใช้อากาศจะได้ช่วยลดน้ำเน่า  /
  • ยกถุงทรายออกบ้าง ให้น้ำไหล จะช่วยเพิ่มออกซิเจน  /
  • เปิดปั๊มทำให้น้ำไหลเวียนบ้าง จะช่วยเพิ่มออกซิเจน  /
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำเน่าให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำ หลีกเลี่่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เข้าปาก เข้าแผล อาจะทำให้ป่วยหนักได้  /

ขอขอบคุณท่านประธานกรรมาธิการ นิลวรรณครับ ที่ได้ชวนเข้าไปร่วมประชุมครับ

ทวีศักดิ์

ดูระดับน้ำกลางกรุงเช้าวันนี้ (๖ พย.๒๕๕๔)

ระดับน้ำคลอง ใน กทม.

เว็บดูระดับน้ำในคลองของ กทม. (โดยสำนักการระบายน้ำ) ช่วยให้ผมสามารถดูระดับน้ำในคลองต่างๆได้จากที่บ้าน   จึงขอแบ่งปันมาให้ดูกัน ท่านที่อยากกดดูเองสดๆ ก็ทำได้เลยครับ เข้าไปที่ http://dds.bangkok.go.th/Canal/ จากนั้นก็เลือกชื่อคลองจากเมนูทางซ้ายมือ ก็จะได้ผังแสดงลักษณะของคลอง ช่วงต่างๆและตำแหน่งที่ตั้งเครื่องวัด ด้านล่างของผังก็จะเป็นภาพหน้าตัด แสดงความสูงของตลิ่ง และความสูงของระดับน้ำ ที่ไหนก็ตามที่มีระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ก็แปลงว่าน้ำล้นตลิ่ง ท่วมถนนหรือบ้าน ขอเชิญชมตัวอย่างของคลองเปรมประชากร ที่ผมเข้าไปดูเมื่อ ๘ น. เช้านี้ครับ ทำให้ทราบว่า มีน้ำท่วมที่บริเวณวัดเทวสุนทร

ลองดูภาพจากคลองอื่นๆบ้าง เช่น คลองสามเสน ซึ่งรับน้ำต่อจากคลองเปรมมาลงที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ ถนนพระราม ๕

บ้านผมอยู่ใกล้คลองสามเสน และได้ประโยชน์จากคลองนี้อย่างมาก เพราะ กทม.มีการสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างดี  ปกติคลองนี้จะปิดประตูน้ำตลอด เพราะมีการสูบออกให้ระดับต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เสมอ เวลาฝนตกแรงๆ จนน้ำท่วม ฝนหยุดเดี๋ยวเดียว ถนนก็แห้ง

วันนี้น้ำท่วมถนนวิภาวดีรังสิตมาจนถึงห้าแยกลาดพร้าว ภาพข้างล่างเป็นข้อมูลเกี่ยวกับคลองลาดพร้าวและบางซื่อครับ ทำให้เราทราบว่ามีน้ำท่วมในช่วงวัดลาดพร้าวและเสนานิคมอยู่พอควร

คงจะมีหลายท่านที่อยากทราบระดับของคลองแสนแสบ เพราะบ้านท่านอยู่ใกล้ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ และสุขุมวิท ด้านซอยเลขคี่ เช้านี้คลองแสนแสบ สภาพดีครับ ไม่มีน้ำล้นตลิ่งที่ไหนเลย แต่ก็สมควรเฝ้าระวังครับ

น้าบนผิวถนนใน กทม.

ผมเน้นการดูระดับน้ำในคลองมากกว่าบนถนน เพื่อให้เราสามารถ “คิดล่วงหน้า” ก่อนน้ำจะมาถึง เพราะระดับน้ำในคลอง หากใกล้หรือเริ่มจะล้นตลิ่ง ทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวหนี  ระดับน้ำบนถนนเป็นสิ่งสุดท้ายครับ เมื่อน้ำท่วมถนน ก็แปลว่ามันเต็มคลอง เต็มท่อระบายน้ำจนหมดเกลี้ยงแล้ว จึงโผล่มาที่ถนน  ในทางกลับกัน เมื่อน้ำท่วมแล้ว สิ่งที่เราอยากดูจากระยะไกล คือ ระดับน้ำบนถนน เมื่อใดน้ำจะลดลงจากถนน ผู้คนจะได้ใช้สัญจรได้  เราสามารถนำมาใช้วางแผนการเดินทาง  อีกไม่นานเกินรอ พวกเราก็คงอยากเข้า Traffy หรือ Google Earth ชนิดที่บอกเรื่องน้ำท่วมถนนได้ด้วย เพิ่มเติมจากที่บอกสภาวะการจราจร

ท่านที่สนใจจะดูน้ำท่วมถนน เชิญเข้าไปที่ http://dds.bangkok.go.th/Floodmon/ และเลือกถนนใกล้บ้านท่านได้เลย หากอยากจะดูน้ำท่วม ผมขอนำภาพจาก  “FL10 ซอยแจ้งวัฒนะ 14” ซึ่งรายงานว่า ตอนนี้ท่วมตั้ง ๖๖ ซม.

ระบบการตรวจวัดจากระยะไกล (โทรมาตร) เช่นนี้ มีประโยชน์มากต่อประชาชน และช่วยให้เราทราบข้อเท็จจริงด้วยการอ่านค่าจากเครื่องวัดโดยตรง ไม่ต้องผ่านการรายงาน การทำข่าว ซึ่งมักจะมีการลดทอนความแม่นยำของข้อมูล หรือผิดเพี้ยนไประหว่างการนำเสนอ  เสียอย่างเดียว ระบบในวันนี้ ใช้ยากไปหน่อย เพราะต้องเข้ามาที่หน้าจอนี้ก่อน แล้วต้องกดเรียกทีละถนน ผมจะสร้าง social network ที่มีหน้ารายงานต่างๆแยกเป็นคนละเว็บไปเลยไม่ได้  เรียกจาก iPad หรือ iPhone ก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็น Flash   สิ่งที่ขะง่ายทีสุดก็คือการแสดงเป็นแผนที่ถนนและคลอง เมื่อเมาส์ไปอยู่ที่ถนนหรือคลอง  สถานภาพของจุดนั้นก็จะ pop up ขึ้นมาให้เราดูทันที    หวังว่าคงไม่นานเกินรอ เราน่าจะได้สิ่งนี้มาใช้ประโยชน์  ในวันนี้ก็นับว่าพอเพียงครับ

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
20111106- 10:08

EM กับประเทศไทย

EM (Effective Microorganism) เป็นที่น่าสนใจของทุกคน เพราะมีผู้รณรงค์ให้มาปั้น EM Ball กันจำนวนมาก ด้วยความเชื่อว่าแก้ปัญหาน้ำเน่าได้ ในเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมานาน กลับกังวลกันขนาดหนัก ว่าโยน EM Ball ลงไปในน้ำมากๆแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ฟังนักวิชาการจุฬาฯพูด “EM Ball เป็นลูกกวาดหรือยาพิษ?”

EM Ball ดีจริงหรือไม่ เชิญฟังความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มายาคติของ EM Ball น่าฟังมากครับ

ท่านที่สนใจอยากอ่านเป็นบทความ เชิญอ่าน EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ ? ที่ เว็บนสพ.มติชน

ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา สวทช.ได้ร่วมกับ ม.มหิดล และ ม.พระจอมเกล้าฯธนบุรี ได้พิจารณาปัญหาของการทิ้งสารอินทรีย์ลงไปน้ำเน่าผ่านการรณรงค์ EM Ball โดยไม่มีกระบวนการเพิ่มออกซิเจนรองรับ จากการทำงานระดมสมองระหว่างนักสิ่งแวดล้อม นักชีววิทยา นักเทคโนโลยีชีวภาพ แพทย์​ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสาธารณสุขได้ประชุมกันหลายครั้ง เพื่อหาทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนคนไทย ผลที่ได้ออกมาในรูปแบบของคำแนะนำ และจุลินทรีย์ชนิดที่ปล่อยลงน้ำโดยไม่ต้องเติมสารอินทรีย์ประเภทดิน น้ำตาล ที่ใส่ลงใน EM Ball โดยในขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใกล้จะถึงจุดที่สามารถทำเป็นข้อเสนอทางเลือกใหม่ต่อรัฐบาลในเร็วๆนี้

จะใช้หรือไม่ใช้ EM เราทำอะไรกันได้บ้าง?

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม มจธ.ร่วมกับ BIOTEC ได้ให้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจเรื่องการกำจัดน้ำเน่า มจธ.และไบโอเทค แนะวิธีจัดการกับปัญหาน้ำเสียให้อยู่หมัด พร้อมเทคนิคใช้ EM ให้ได้ประสิทธิภาพ ลงในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ มีคำแนะนำที่ดีๆหลายข้อ

ในระหว่างนี้ ท่านที่ได้ฟัง อาจารย์ ดร.ธงชัยแล้วเห็นด้วยกับ อ.ดร.ธงชัย ท่านสามารถช่วยเรื่องน้ำเน่าได้ดีกว่าการทำ EM Ball ด้วยวิธีต่างๆดังนี้ครับ (เป็นหัวข้อที่ผมรวมรวมมาจากการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายๆครั้ง หากท่านใดจะทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็จะเป็นพระคุณยิ่ง)

  1. หากน้ำยังไม่ท่วม ขอให้เก็บขยะทุกชนิดเข้าถุงหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำท่วมถึง
  2. อย่าลืมว่าขยะมีสามชนิด คือ อินทรีย์​ สารพิษ และวัสดุจิปาถะ ส่วนที่เป็นอินทรีย์​หมายถึงเศษอาหาร กิ่งไม่ ใบไม้ อุจจาระ และซากศพ ส่วนที่เป็นสารพิษได้แก่สารเคมี และสิ่งที่มีสารพิษเช่นแบตเตอรี่ทุกชนิด ยาฆ่าแมลง วัสดุจิปาถะได้แก่ ถุงพลาสติก ไม้เนื้อแข็ง เหล็ก พวกนี้ไม่เน่า ฯลฯ พวกอินทรีย์ และสารพิษ ขอให้ทุกท่านช่วยกันป้องกันห้ามลงน้ำ หากจะใส่ปูนขาวหรือ EM Ball อย่างหนึ่งอย่างใดลงในถุงด้วยก็จะดี
  3. ในช่วงน้ำท่วม หากพบซากสัตว์ อุจจาระ ควรเขี่ยไปอยู่บนที่แห้ง และโปรยปูนขาวฆ่าเชื้อ ระวังอย่าไปสัมผัสกับน้ำและปฏิกูล
  4. ช่วงน้ำท่วม มนุษย์ไม่ควรถ่ายลงในน้ำ เพราะจะทำให้น้ำเน่าเพิ่มขึ้น ควรใส่ถุง ผูกปิดให้มิดชิด ในถุงจะใส่ปูนขาว หรือ EM Ball ก็ได้ เลือกเอาเพียงอย่างเดียว เพราะปูนขาวเอาไว้ฆ่าเชื้อแต่ไม่ย่อยสลาย แต่หากมี EM Ball มันก็จะช่วยย่อยสลายโดยมีอากาศ พอน้ำลด ถุงใส่อุจจาระก็จะกลายเป็นดิน เอาไปฝังกลบได้เลย
  5. หากมีน้ำท่วมขัง และเป็นน้ำเน่า แต่ที่บ้านท่านมีปั๊มน้ำ หรือไดรโว่ ท่านสามารถลดปัญหาโดยปั๊มน้ำขึ้นมาเพื่อเทลงกลับที่เดิมเพื่อเติมออกซิเจนลงไปในน้ำ พยายามเปิดหน้าต่างและให้มีแสดงแดดเข้ามามากๆ แสงแดดและอากาศในน้ำ จะช่วยให้จุลินทรีย์ที่ย่อยสารอินทรีย์ในน้ำทำงานได้ดีโดยไม่ส่งก๊าซไข่เน่า เมื่อใดที่ไม่มีอากาศ จุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งก็จะทำงานย่อยสลายเหมือนกัน แต่มันจะปล่อยก๊าซไข่เน่าออกมา เหม็นมาก พวกเราคงชอบจุลินทรีย์ชนิดย่อยสลายแบบไม่เหม็นมากกว่า สิ่งดีๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัย EM Ball ครับ
  6. มี จุลินทรีย์ชนิดผง (ต้องละลายน้ำ) และ ชนิดเหลว (เทลงในน้ำเน่าได้เลย) ซึ่งสามารถผลิตได้จำนวนมาๆ ซึ่งจะเหมาะสมกับปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้มากกว่า ทางกลุ่มเครือข่ายแก้ปัญหา EM Ball คงจะเสนอให้ ศปภ. เร่งดำเนินการสั่งการผลิต และจ่ายแจกออกไปโดยเร็ว ท่านที่สนใจ กรุณาบอกต่อครับ

ทางเลือกของการใช้จุลินทรีย์เพื่อการลดน้ำเน่า

ผมหวังว่าแผนปฏิบัติการช่วยแก้น้ำเน่าจากกลุ่มเครือข่าย สวทช. มหิดล มจธ กรรมาธิการวิทยาศาสตร์ของวุฒิสภา และองค์การเภสัชกรรม จะมีการสรุปร่วมกันโดยเร็ว ภายในสองสามวัน แถลงออกมาสู่สาธารณชนในสัปดาห์หน้า และน่าจะช่วยแก้ปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์ที่กังวลเรื่อง EM Ball

ความศรัทธาในการช่วยกันทำความดีของคนไทยที่ช่วยกันปั้น EM Ball จำนวนห้าแสนลูกมีสูงแน่ แต่การหาทางเลือกใหม่ที่เหมาะสม (และไม่ต้องโยนก้อนอินทรีย์ลงน้ำ) ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์​ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง และคงต้องขอนักสังคมศาสตร์และนักการตลาดช่วยเผยแพร่เกี่ยวกับผลเสียที่จะเกิดจากการใช้ EM Ball ที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่รู้ที่มาที่ไปของเชื้อ และไม่ทราบปริมาณการใช้ที่เหมาะสม เราหวังว่าไม่เกิดการทะเลาะกันระหว่างผู้สนับสนุนการปั้น EM Ball (เช่นหน่วยทหาร หน่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม) กับกลุ่มผู้ที่กังวลเรื่องสารอินทรีย์ที่อาจเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อม ทางเลือกใหม่ ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน ยอมรับว่าใช้ได้โดยไม่มีผลเสีย และทำจริงแล้วได้ผลอย่างคงเส้นคงวา

นักวิชาการที่ผมพบทุกคน เห็นตรงกันว่า การย่อยสลาย ต้องใช้จุลินทรีย์แน่นอน และการสลายแบบไม่มีกลิ่นเหม็น ต้องเติมอากาศลงไปในน้ำแน่นอน และหากจะทำให้ได้ผล ต้องทำในบริเวณน้ำนิ่ง น้ำที่ไหลลงทางทิศใต้อาจจะไม่เหมาะที่จะใส่จุลินทรีย์ เพราะไส่ไปแล้ว วัดผลไม่ได้เลย ส่วนเทคนิคการเติมอากาศ มีมากมาย แค่ไปกวนๆก็มีประโยชน์มาก เพียงตักใส่ถังขึ้นมา แล้วเทกลับลงไปที่เดิมก็ได้อากาศเพิ่มขึ้น และท้ายสุด หากมีเครื่องสูบน้ำ หรือไดรโว่ ท่านก็เพิ่มอากาศได้ด้วยการดูดขึ้นมาเพื่อเทผ่านอากาศกลับลงไปใหม่ หรือจะพ่นลมลงไปในน้ำปุดๆ ก็เติมอากาศได้ หลักต่างๆเหล่านี้คนที่ติดน้ำท่วมทำได้เพื่อให้กับตนเองได้ครับ

ผมอยากขอความร่วมมือจากทีมนักวิชาการที่เก่งเรื่องเครื่องเติมอากาศ หรือช่างกล ที่สามารถผลิตกังหันน้ำชัยพัฒนาชนิดที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าช่วยกันคิดด้วยครับ เพราะการเติมอากาศลงในน้ำ คือวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้มีผู้นำที่ช่วยผลักดัน แนวพระราชดำริที่ดีก็มีให้เราศึกษาได้

เมื่อบ่ายวันนี้ มีผู้ส่งเรื่องเล่าประสบการณ์มาให้แบ่งปันกันครับ

แลกเปลี่ยนประสบการณ์ค่ะ


ที่หมู่บ้านแถวตลิ่งชันนำท่วมขังมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 31 ตค (เป็นน้ำที่เน่ามาตั้งแต่อยูธยา ปทุม บางบัวทองยางใหญ่ ไล่อ้อมไปทางพุทธมณฑลกลับมาที่ตลิ่งชัน ) บนถนนในหมู่บ้านสูงประมาณ 60 ซม. แล้วเข้าตามบริเวณบ้านทุกหลัง แต่ส่วนใหญ่ไม่เข้าตัวบ้าน การสูบน้ำออกจากหมู่บ้านไม่มีประโยชน์อะไร เพราะน้ำเข้ามาตามท่อนำทิ้ง และรอบนอกหมู่บ้านก็เป็นบ้านชาวบ้านที่น้ำท่วมสูงกว่าเราอีก แต่คณะทำงานหมู่บ้านตัดสินใจสูบน้ำให้น้ำวนเวียนต่อไปเพียงเพื่อต้องการเพิ่มออกซิเจนในน้ำไว่ชะลอการเน่ายิ่งขึ่นของน้ำ

สำหรับที่บ้านสิ่งที่ทำกันคือ เก็บขยะต่างๆในบริเวณใกล้เคียง ยกถุงขยะขึ้นวางบนขอบรั้วสูง รอเวลาที่จะมีรถขยะเข้ามาเก็บ

ส่วนน้ำท่วมขังในบริเวณบ้าน และในโถส้วมที่เริ่มมีกลิ่นและดูเหมือนเวลากดชักโครกนำจะลงช้า ก็ได้ใช้ผงจุลินทรีย์ซึ่งที่บ้านมีอยู่ใส่ลงในน้ำในบริเวณบ้าน และในโถชักโครก จนถึงวันนี้วันที่ 6 แล้วที่น้ำท่วมขังก็ยังไม่มีกลิ่นเหม็นค่ะ แต่มียุงเยอะอยู่กำลังอยากได้ปลาหางนกยูงมาเลี้ยงสักหน่อยค่ะ

วัชรา

ขอขอบคุณคุณวัชรา ที่ส่งข่าวที่มีประโยชน์ครับ

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
20111105 09:09, revised 13:18, 23:10

น้ำในถนนสายหลัก กลางกรุงเทพ

เพื่อความสะดวกในการติดตามระดับน้ำในคลองกทม. แะตามถนนสายหลักของ กทม. นาทีต่อนาที ขอเชิญชมผลงานของสำนักการระบายน้ำ กทม.ครับ ลองเข้าไปดูระดับน้ำที่จุที่ท่านสนใจได้เลย น้ำท่วมถนนสายไหนก็ตามข้อมูลได้ ส่วนท่านที่เห็นของจริงและมีเวลาเปรียบเทียบ ก็ช่วยบอกด้วยครับ ว่ามันถูกต้อง

ระดับน้ำในถนนและคลองสายสำคัญของ กทม. มีข้อมูลเหล่านี้จากเครื่องวัดระดับน้ำบนถนนจำนวนมากที่ กทม.ติดตั้งขึ้น อันนี้ก็จะช่วยบอกเราว่าใกล้ๆบ้านหรือสำนักงานของเรา มีน้ำท่วมที่ใด เชิญเข้าชมข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ กทม.

ระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนของ กทม.

ระบบตรวจวัดน้ำในคลองหลัก กทม.
ระบบวัดฝนและระดับน้ำตามจุดต่างๆของ กทม. โปรดคลิ๊กภาพย่อเพื่อไปที่ เว็บของสำนักการระบายน้ำ กทม. และใช้เมาส์วางที่จุดที่สนใจ เพื่ออ่านค่าปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำ

ขอบคุณ กทม. ที่ทำระบบนี้ให้เราได้ทราบข้อมูลความจริง

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
20111105 11:25