Cloud Computing – โอกาสของคนไทย? (ตอนที่ ๑)

โลกของการใช้คอมพิวเตอร์ในวันนี้กำลังจะก้าวไปสู่สไตล์ที่เรียกว่า Cloud Computing เนื่องจากมีข้อมูลมากมายมหาศาล กระจายอยู่ทุกที่ และการเขียนโปรแกรม ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายๆที่ และในเวลาเดียวกัน เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (หรือการนำซอร์ฟเวอร์เล็กๆหลายร้อยตัวมาทำงานร่วมกัน) ก็ใช้งานง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำพลังการทำงานมารวมกัน เสมือนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว และการนำงานหลายร้อยงานมา “วิ่ง” ในเครื่องเหล่านั้น ผลที่ได้ก็คือ บริการข้อมูลที่มหัศจรรย์ราวกับว่าโลกทั้งโลกเป็นของเรา อยากได้อะไร มันก็หลั่งไหลลงมาราวกับลงมาจากท้องฟ้า อะไรที่ได้มาโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ว่าจริงๆแล้วมาจากที่ไหน ฝรั่งจึงใช้ชื่อเรียกว่า มันมาจากก้อนเมฆ คนไทยหลายคนไม่ใคร่ชอบก้อนเมฆ เลยเรียกว่า “คลาวด์คอมพิวติ้ง” ท่านจะชอบคำไหนก็คงแล้วแต่ท่าน

ตัวผมเอง อยากอุปมา cloud computing ว่าเป็นสายฝนจากท้องฟ้ามากกว่าครับ เพราะหากท่านไม่มีอินเทอร์เน็ต ท่านก็จะไม่มีวันได้รับประโยชน์จาก cloud computing แน่นอน คล้ายๆคนในอัฟริกา ชะเง้อคอยดูบนฟ้า พบว่า นานๆครั้งจะมีเมฆมาสักก้อน แถมยังลอยข้ามหัวไป ไม่ยอมกลายเป็นฝน อย่างนี้ ยากที่จะได้รับประโยชน์ เมฆเองก็มีหลายแบบ ประเภท Cirrus จะเป็นแบบก้อนเล็ก อยู่สูงสุด หากต่ำลงมาและโตขึ้นก็จะเรียกว่า Cumulus แต่เมฆที่ยิ่งใหญ่สุดจะโตตรอบคลุมได้ถึงหนึ่งในสามของกรุงเทพ พวกนี้คือ Cumulonimbus รองลงไปคือ Nimbostratus น้ำฝนที่ตกลงมา หากมากไป ก็เกิดน้ำท่วม หากไม่ตกเลยนานๆก็ทำให้เกิดน้ำแล้ง ดังนั้น การเล่นกับเมฆ และการรองน้ำฝนไว้ใช้งาน จึงเป็นงานช้างระดับชาติ (สร้างเขื่อนชลประทาน สร้างอ่างเก็บน้ำ ทำฝายทดน้ำ ปลูกป่าไว้ซับน้ำ) หากเป็นชาวบ้านธรรมดา เราคงแค่ทำอ่างเก็บน้ำ และกักน้ำใช้ในนา รองน้ำฝนใส่โองหรือใส่บ่อเอาไว้ใช้ รับรองว่าน้ำเป็นประโยชน์แน่นอน ไม่ควรปล่อยให้ไหลทิ้งไปเฉยๆ และเราไม่ควรละเลยการปลูกป่าเพื่อซับน้ำไว้ในดิน ทำให้ต้นไม้เล็กใหญ่อยู่รอดตลอดปี มีอาการให้เรารับประทาน

เมื่อสี่สิบปีก่อน ราวๆ ปี ค.ศ.๑๙๖๒ คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และแพงมากๆ เครื่องละ ๕๐ ถึง ๒๐๐ ล้านบาท ใครซื้อมาใช้งาน จะต้องหาทางต่อสายไปยังผู้ใช้งานหลายๆคนพร้อมกัน หรือไม่ก็ให้คนหลายร้อยคน เข้าคิวกันใช้เครื่องอ่านบัตรเจาะรู เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมเหล่านั้น ได้รับการใช้งานคุ้มค่า สิบปีต่อมา (ราวๆ ค.ศ. ๑๙๗๐) มีผู้คิดค้น มินิคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ทำให้การลงทุนลดลงมาก เหลือเพียง ๑๐-๒๐ ล้านบาท และสามารถใช้งานกันได้พร้อมกันถึงประมาณ ๔-๘ คน และตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๕ เป็นต้นมา มีคนสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกมา สำหรับใช้หนึ่งคนหนึ่งเครื่อง สะดวก สบาย ไม่ต้องพึ่งใคร และราคาไม่แพง (ประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแรกที่ใช้ CPU ขนาด ๘ บิต – MITS Altair 8800 )

เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเครื่องแรกของโลก MITS Altair 8800 ลงเป็นบทความพิเศษ วารสาร Popular Electronics มกราคม ๑๙๗๕

ในระหว่างที่โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว กลายเป็น Apple ][, IBM Personal Computer, IBM PC Compatible, MS-DOS, Macintosh, MS Windows โดยอาศัยฐานของไมโครโพรเซสเซอร์ Intel 8080, 8086, 80186..80486, Pentium ฯลฯ ตามที่เราทราบกันดี ทางด้านการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ ได้มีวิวัฒนาการออกมาเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ควบคู่กันไป

ชะตาชีวิตของอินเทอร์เน็ต เริ่มจากเครือข่ายระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมที่อยู่ห่างไกลกัน (ข้ามมลรัฐในสหรัฐ) มาตัดกับชะตาชีวิตของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๙๕ ซึ่งเป็นวันที่บิลเกตส์เปิดตัว วินโดวส์ ๙๕

ก่อนจะถึงวันของวินโดวส์ ๙๕ ชาวโลกใช้อินเทอร์เน็ตกับระบบดอส ระบบแมคอินทอช และระบบวินโดวส์ ๓.๑๑ โดยอาศัยฟรีแวร์และโปรแกรมประเภทโอเพนซอร์สมาก่อน รวมถึงการใช้โปรแกรมท่องเว็บแบบใช้ฟรี อาจจะขลุกขลักกันอยู่บ้าง แต่สถานการณ์ดีวันดีคืน เพราะการหาโปรแกรมฟรีทางอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้นทุกวัน แม้เด็ก ๗ ขวบคนไทย ก็ยังสามารถกดปุ่มดาวนโหลดและติดตั้งโปรแกรมสำเร็จได้ แปลว่าเรารู้จักรองน้ำฝนมาใช้งานตั้งแต่ตอนนั้นแล้วครับ

อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟต์ช่วยให้ชีวิตของผู้ใช้ PC สะดวกขึ้นมาก เพราะเพียงแค่เราติดตั้งวินโดวส์ ๙๕ และเสียบสาย LAN ที่ต่อเข้าเครือข่ายองค์กรและเครือข่ายภายนอก เราสามารถเล่นเว็บได้ทันทีที่ติดตั้งวินโดวส์ ๙๕ เสร็จสมบูรณ์ สามารถอ่านข่าว ดาวน์โหลด เล่นเกมส์ ได้เลย หากจะใช้อีเมล์ ยังใช้ทันทีไม่ได้ ต้องไปขอเปิดบัญชีจากผู้ให้บริการก่อน หากไม่มี LAN การต่ออินเทอร์เน็ตก็สะดวก เพราะเรียก Dial-up Network ขึ้นมาใช้งานได้เลย โดยต้องทราบเบอร์โมเด็มของผู้ให้บริการ ชื่อบัญชีและ password ก่อน

ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๐๐ เป็นต้นมา หลายๆประเทศเริ่มมีการปฏิวัติระบบอินเทอร์เน็ต
เป็นแบบ บรอดแบนด์ (แปลว่ามีความเร็วถึงบ้านเกิน ๑ ล้านบิตต่อวินาที) ซึ่งความเร็วขนาดนี้ เทียวเท่า หนึ่งแสนตัวอักษรต่อวินาที หรือสามารถดูหนังฟังเพลงขนาดจอโทรทัศน์ธรรมดา (ไม่เกิน ๖๔๐ เส้น) เสียงสเตอรีโอ สบายๆ จนถึงวันนี้ ในประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ได้บริการที่ความเร็วพื้นฐานประมาณ ๒๕ ล้านบิต/วินาที ในยุโรปและสหรัฐ บริการกันที่ ๒ ถึง ๑๐ ล้านบิตต่อวินาที เป็นความเร็วที่สามารถดูการถ่ายทอดสดหรือดูภาพยนต์แบบ high-definition (๗๒๐ เส้น ถึง ๑,๙๒๐ เส้น) เสียงรอบทิศแบบ ๕.๑ ดอลบี้ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากมีหลายเครื่องในบ้าน ยังสามารถดูต่างช่องกันได้หลายคน

สิ่งเดียวกัน เมื่อมองในด้านธุรกิจ หมายความว่าข้อมูลจำนวนมากทางด้านการผลิต ทางบัญชี ทางวิศวกรรม ทางการแพทย์ สามารถส่งไปมาข้ามทวีปได้ง่ายมาก และเร็วเกือบเท่าฮาร์ดดิสก์ที่อยู่ในเครื่องตั้งโต๊ะ แถมยังช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลได้จากที่ไหนก็ได้ในโลก ตราบใดที่เราจำ user id และ password ได้ ฟังดูคล้ายกับว่าจะเดินทางไปต่างประเทศ ทำไม่ต้องหอบน้ำใส่ขวดไปด้วย ที่ไหนก็สามารถดื่มน้าได้ หากท่านชอบน้ำมะพร้าวอ่อน เวลาไปต่างประเทศ ที่ไหนก็ได้ในโลก ท่านสามารถเปิดก๊อกน้ำออกมา กดปุ่มน้ำมะพร้าวอ่อน แล้วก็ได้น้ำมะพร้าวอ่อนมาดื่มทันที cloud computing เปรียบเสมือนความสามารถที่จะขอรับน้ำมะพร้าวอ่อนผ่านทางก้อนเมฆ ตราบใดที่ท่านมีน้ำมะพร้าวอ่อนเก็บไว้ในก้อนเมฆ

การนำน้ำมะพร้าวอ่อน ไวน์ หรือเฉาก๊วย ไปเก็บไว้ในก้อนเมฆเพื่อแจกฟรื หรือเพื่อขาย ไม่ยากเท่าที่คิด จะเป็นคนไทยหรือฝรั่งหรือจีน มีโอกาสเท่ากัน ใครจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน อยู่ที่ความคิดครับ ส่วนเรื่องการขโมยความคิดแล้วทำเลียนแบบ หรือทำดีกว่า ก็เกิดขึ้นได้ทุกวัน คนที่คิดก่อน ต้องหาทางป้องกันเอาเอง วิธีการป้องกันก็มีหลายวิธี เช่น หากต้นทุนเราต่ำกว่าคนอื่น เราจะได้เปรียบกว่า หากความคิดไม่ยากนัก แต่เป็นสิ่งใหม่ในโลก (ไม่เคยมีใครทำมาก่อน) คงต้องปิดเป็นความลับ แล้วรีบไปจดสิทธิบัตรให้ได้การคุ้มครองก่อน แล้วค่อยทำขายผ่านทางก้อนเมฆ

ในด้านเทคนิค การเปรียบเทียบกับก้อนเมฆนั้น ที่จริง ระบบ cloud computing มีสองส่วน คือส่วนเครือข่ายความเร็วสูง ที่เชื่อมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนเข้าด้วยกัน และส่วนที่เป็น server ซึ่งต่อกับอินเทอร์เน็ต และพร้อมที่จะต้อนรับลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาทางอินเทอร์เน็ตจำนวนหลายร้อยหลายพันคนพร้อมๆกัน เครื่อง server เหล่านี้ มีพลังสูงและมีข้อมูลมากมายพอที่จะบริการแต่ละอย่างได้ด้วยความเร็ว โดยแทบจะไม่มีงานอะไรที่เสร็จช้ากว่า ๒ วินาที ส่วนใหญ่ควรใช้เวลาประมาณ ๐.๑ วินาที

เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ผมได้อ่านเว็บของ Gartner พูดถึงคุณสมบัติห้าประการของ cloud computing มีความน่าสนใจ จึงอยากแปลมาไว้ใช้งาน ใน [บทความนี้] คุณ Daryl Plummer ได้เสนอว่า ใครก็ตาม ที่จะสร้างระบบ cloud computing ขึ้นมาใช้งาน ไม่ว่าจะใช้เอง หรือให้บริการคนอื่น เขาต้องพิจารณาให้ดี ว่าระบบที่ทำขึ้นจะออกมาได้ผลดีอย่างที่คาดหวังหรือไม่ คุณสมบัติห้าประการนี้ น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เราควรทราบ

คุณสมบัติเหล่านี้ได้แก่

service-based ต้องจัดบริการให้ชัดเจน เป็นแบบ “พร้อมใช้งานทันที” โดยเทคโนโลยีที่รองรับ ต้องดี แรง และโตพอที่จะรับความต้องการของลูกค้าในระดับต่างๆได้ ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติได้ตามที่ลูกค้าต้องการได้ ต้องราคาต่ำกว่าทางเลือกอื่นที่ลูกค้าจะลงทุนทำเอง

scalable and elastic บริการต้องลด-ขยายความจุ และความเร็วตามที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าสามารถเลื่อกที่จะเพิ่ม/ลดบริการได้ตามที่ต้องการ คำว่า scalable มักจะหมายถึงความแรงของคอมพิวเตอร์ ขนาดความจุของดิสก์ และความเร็วของเครือข่าย คำว่า elastic ไม่เพียงแต่จะหมายถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หมายถึงความสามารถที่จะเลือกทรัพยากรที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าอาจจะต้องการความจุข้อมูลมาก คำนวณมาก แต่จราจรน้อย หรือมีข้อมูลไม่มาก แต่มีจราจรหนัก ฯลฯ

shared ต้นทุนของบริการจะต่ำได้ก็ต่อเมื่อโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างในระบบเป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกัน เช่น อุปกรณ์ แหล่งจ่ายไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ และข้อมูลบางชนิด โดยที่ลูกค้าไม่รู้ตัว ว่าบริการที่ดีเยี่ยมเช่นนี้ที่จริงมีต้นทุนต่ำ เพราะใช้ทรัพยากรร่วมกับบริการชนิดอื่น ที่ทำให้แก่ลูกค้าอื่น

metered by use ต้องมีระบบเก็บเงินตามปริมาณการใช้งานของบริการ โดยอาจจะมีรูปแบบธุรกิจได้หลายแบบ เช่นเก็บค่าสมาชิก เก็บตามรายการ เก็บตามเวลา หรือไม่เก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ไปหารายรับจากแหล่งอื่น เช่นโฆษณา หรือผู้อุปถัมภ์โครงการ

uses Internet technologies บริการเกิดขึ้นผ่าน URL หรือโพรโทคอลของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการผ่านอินเทอร์เน็ตหลายชนิด ทำขึ้นบนฐานของบริการทางอินเทอร์เน็ต เช่น ระบบบริการซื้อหนังสือของอเมซอน ระบบประมูลของอีเบย์ ระบบอีเมล์ของกูเกิล ระบบแผนที่โลกและภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิลแม็ป เป็นต้น ระบบเหล่านี้ มักจะเปิดเผยเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมต่อและนำไปสร้างเป็นบริการเสริม โดยมีรูปแบบรายรับที่เราอาจจะแบ่งหรือไม่แบ่งกับเข้าของเทคโนโลยีก็ได้

ท่านที่สนใจ อยากจะหาคำตอบ ว่าจะหาโอกาสให้กับตัวเองอย่างไร อาจจะไปลองฟังคำบรรยาย และ podcast ของชาวการ์ตเนอร์ได้ครับ เริ่มจาก [ที่นี่ครับ]